ผู้ว่าการ กกท. ชี้แจง 85 สมาคมกีฬา ผลกระทบจากประกาศ WADA กับการส่งแข่งขันในระดับนานาชาติ

ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เป็นประธานการประชุม เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจให้กับผู้บริหารสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับประกาศขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency: WADA) ที่ไม่ให้การรับรองประเทศไทย เนื่องจากยังไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมนูญขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย ส่งผลกระทบต่อการส่งนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันรายการระดับนานาชาติ อีกทั้ง ยังส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนไทยในสหพันธ์กีฬาระดับนานาชาติ โดยให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่/บทบาทในสหพันธ์ฯ เป็นเวลา 1 ปี โดยมีนายประชุม บุญเทียม รองผู้ว่าการ กกท. ฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา, นายวิษณุ ไล่ชะพิษ รองผู้ว่าการ กกท. ฝ่ายบริหาร,นางโปรดปราน สมานมิตร รองผู้ว่าการ กกท. ฝ่ายยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมผู้บริหาร กกท. และผู้บริหารสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ทั้งที่มีแผนในการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ และสมาคมกีฬาฯ ที่มีผู้แทนอยู่ในสหพันธ์กีฬาระดับนานาชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศ ดังกล่าว เข้าร่วมรับฟัง ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา กกท. และผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา

ในกรณีดังกล่าว ผู้ว่าการ ชี้แจงว่า ประเทศไทยปฏิบัติตามธรรมนูญของ WADA อย่างเคร่งครัด ต่อเนื่องและผ่านการตรวจประเมินเป็นที่น่าพอใจมาโดยตลอด ซึ่งแตกต่างจากกรณีของ เกาหลีเหนือ และอินโดนีเซีย อย่างสิ้นเชิง แต่เนื่องจาก พ.ร.บ. ควบคุมสารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ในประเด็นของการกำหนดโทษ การอุธรณ์ การลงโทษ และคำนิยามบางประการ ยังไม่สอดคล้องกับธรรมนูญของ WADA โดยในประเด็นดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการด้านกฎหมาย ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ไขในประเด็นนี้ ทั้งนี้ กกท. จะเร่งดำเนินการเพื่อให้มีทางออกที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่ายโดยเร็ว

สำหรับกรณี การงดใช้ธงชาติในการส่งนักกีฬาทีมชาติเข้าร่วมการแข่งขันในรายการระดับนานาชาติ หรือการจัดการแข่งขันทั้งระดับภูมิภาค ทวีป และระดับโลก ยังอยู่ในสถานะที่ต้องถือปฏิบัติ ยกเว้นการแข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสหพันธ์กีฬานั้น ๆ เป็นผู้พิจารณา หากการจัดการแข่งขันถูกกำหนดไว้ในแผนก่อนมีประกาศ ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เช่น อิฟม่า เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ ซึ่งจะจัดในประเทศไทย ในช่วงเดือนธันวาคม และการจัดการแข่งขันจักรยานยนต์เอเชียโรดเรชซิ่ง 2021 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ แต่หากจะมีการดำเนินการใดภายหลังประกาศ ให้สหพันธ์กีฬานั้น ๆ เป็นผู้ให้คำตัดสินต่อไป นอกจากนี้ การระงับการปฏิบัติหน้าที่และบทบาทของผู้แทนไทยในสหพันธ์กีฬาระดับนานาชาติ เป็นเวลา 1 ปี นั้น กกท. ได้มีการประสานงานกับทาง WADA อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการขอคืนสิทธิ์แก่ผู้แทนประเทศไทย ให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที ก่อนกำหนด หากประเทศไทย สามารถแก้ไขปัญหาข้อกฎหมายขอพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ให้เป็นไปตามธรรมนูญของ WADA ได้ภายใน 3 – 4 เดือน

ส่วนเรื่องการดำเนินการให้ “สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา” เป็นองค์กรอิสระออกจากการบริหารของภาครัฐ ต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งในการแก้ข้อกฎหมายครั้งนี้ ทำควบคู่กันไปกับแนวทางการจัดตั้งสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ให้เป็นองค์กรอิสระไม่ขึ้นกับองค์กรใด ๆ อย่างไรก็ตาม แก้ไขข้อกฎหมายให้สอดคล้องกับธรรมนูญของ WADA ก็เป็นส่ิงที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

ผู้ว่าการ กกท. กล่าวปิดท้ายว่า ขณะนี้ กกท. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการโอลิมปิคไทย ได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะออกกฎหมายลูก ประกาศใช้ในลักษณะพระราชกำหนด และบังคับใช้ในวาระเร่งด่วนซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3- 4 เดือน

ข้อมูลจาก : สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย : https://www.sat.or.th/

Leave a Reply