โซเชียลมีเดีย ในหมู่คนวงการกีฬา เป็นทั้ง เงิน และ มลพิษ ?

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี
อ่านข่าวต้นฉบับ: โซเชียลมีเดีย ในหมู่คนวงการกีฬา เป็นทั้ง เงิน และ มลพิษ ?

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนแทบทุกกลุ่ม สำหรับวงการกีฬาแล้ว การเข้ามาของเทคโนโลยีสร้างความเปลี่ยนแปลงให้มากมาย แต่ไม่มีคนคาดคิดว่า เทคโนโลยีด้านการสื่อสารอย่างสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งส่งอิทธิพลต่อผู้คนในรอบทศวรรษหลังนี้แบบไม่เคยมีมาก่อนก็ส่งผลต่อนักกีฬาและเปลี่ยนโฉมการกีฬาไปแบบเกินคาด

การสื่อสารระหว่างนักกีฬา องค์กรด้านกีฬา กับผู้ชมและแฟน ๆ ผู้ติดตามโดยใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ พอจะเรียกได้ว่าปฏิวัติการสื่อสารในแวดวงการกีฬาหลายแง่มุมตั้งแต่เรื่องกระบวนการที่แฟนสามารถปฏิสัมพันธ์กับต้นทางทั้งนักกีฬาและต้นสังกัดได้โดยตรง ไปจนถึงเป็นช่องทางหารายได้ ทำการตลาด หรือในเชิงสื่อสารประชาสัมพันธ์โดยทั่วไปสำหรับฟากขององค์กรกีฬาหรือนักกีฬา

ถึงจะมีข้อดีมากมาย เมื่อสื่อสังคมออนไลน์เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น หลายปีที่ผ่านมาจึงเริ่มปรากฏข้อกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานและผลกระทบต่อผู้ใช้งานในแง่ต่าง ๆ มีผู้สนใจศึกษาในทางวิชาการหลายชิ้น บางชิ้นพบผลกระทบเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งาน อาทิ ผลการศึกษาจากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย Stony Brook พบว่า นักกีฬาในศึกเอ็นบีเอที่ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ (งานวิจัยศึกษาวิเคราะห์การทวีตของนักกีฬา 112 ราย ระหว่างปี 2009-2016 เฉพาะกรณีทวิตเตอร์) ในคืนก่อนวันแข่งขันระหว่าง 23.00 น. ถึง 07.00 น. พบว่าผู้ที่ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงดังกล่าว ผลงานในการแข่งออกมาลดลง

นอกเหนือจากแง่มุมเชิงผลงานแล้ว ในด้านจิตใจซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้วัดเรื่องผลงานของนักกีฬา เมื่อสื่อสังคมออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด แฟนกีฬาสามารถติดต่อเข้าถึงนักกีฬาได้โดยตรง เรื่องนี้ย่อมเป็นข้อดีได้ด้วย ในขณะเดียวกันก็เป็นแง่มุมที่น่ากังวล หากผู้ใช้งานพิมพ์ข้อความเชิงลบซึ่งส่งผลกระทบอารมณ์ความรู้สึกของนักกีฬา บางครั้งก็ทำให้เกิดเป็น “ดราม่า” ขึ้นมา หรือสะสมเป็นมลพิษทางอารมณ์ได้เช่นกัน และในช่วงปี 2021 มีคนวงการกีฬาที่ไม่สามารถทนรับพฤติกรรมการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์แบบผิด ๆ ได้ จนต้องประกาศถอนตัวจากแพลตฟอร์ม

คนวงการกีฬาที่ว่า คือ เธียร์รี่ อองรี อดีตดาวยิงสโมสรอาร์เซนอล และทีมชาติฝรั่งเศส ซึ่งประกาศเว้นระยะห่าง ถอนตัวเองจากการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ โดยให้เหตุผลว่ามาจากบรรยากาศการใช้งานของแพลตฟอร์มที่มักพบพฤติกรรมเหยียดสีผิว หรือการบุลลี่ (ดูถูก-ดูหมิ่น หรือล้อเลียน) แพร่กระจายอย่างหนัก

อองรี เป็นคนวงการกีฬาอีกคนที่ร่วมเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงที่คนกีฬาเริ่มรณรงค์ยุติพฤติกรรมและแนวคิดเหยียดผิวในรอบหลายปีมานี้ เมื่อต้นปี 2021 อองรี เพิ่งประกาศถอนตัวจากการทำงานในสโมสร CF Montreal ในเมเจอร์ลีกสหรัฐ ด้วยเหตุผลส่วนตัวเกี่ยวกับครอบครัว กระทั่งมาเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดจากการประกาศเว้นระยะห่างจากสื่อสังคมออนไลน์ วาทะที่ดูจะทำให้ทุกคนต้องเหลียวมามอง คือท่อนที่อองรีบอกว่า “จะไม่กลับมาใช้สื่อสังคมออนไลน์ จนกว่าบริษัทที่บริหารแพลตฟอร์มจะจัดระเบียบพื้นที่ของตัวเองด้วยความตั้งอกตั้งใจระดับเดียวกับที่จัดการปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์”

จากการประกาศของอองรี อดีตนักเตะและกุนซือมือใหม่มองว่า การสร้างบัญชีผู้ใช้งานขึ้นมาเป็นเรื่องง่ายดายมาก คนจึงมักนำบัญชีที่สร้างขึ้นมาเป็นตัวตนแบบไหนก็ได้มาใช้ระรานผู้อื่น ผลลัพธ์คือบรรยากาศการใช้งานอันเต็มไปด้วยมลพิษ เต็มไปด้วยการเหยียดผิวและบุลลี่ ซึ่งกลายมาเป็นพิษทางจิตใจต่อผู้ใช้งาน

กรณีนี้ใกล้เคียงกับเรื่องนักกีฬาที่ต้องรับมือกับความคิดเห็นเชิงลบจากแฟน ๆ ด้วย เมื่อพวกเขามีกลุ่มผู้สนับสนุนติดตามเชียร์ แน่นอนว่าคนที่ไม่ชื่นชอบพวกเขาก็มีสิทธิเข้ามาแสดงความคิดเห็น สามารถเข้าถึงพื้นที่ในโลกออนไลน์ของนักกีฬาได้เช่นเดียวกับคนอื่น งานศึกษาวิจัยด้านกีฬาหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึก หรือสิ่งที่ปรากฏผ่านสื่อ ซึ่งอาจทำให้นักกีฬาไขว้เขวก่อนแข่ง เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ล้วนส่งผลกระทบต่อผลงานในการแข่ง

หรือหากกรณีที่นักกีฬาบางคนให้ทีมงานเป็นผู้บริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ของตัวเองก็อาจลดความเสี่ยงตรงนี้ได้บ้าง ส่วนกรณีที่นักกีฬาเล่นเอง หลายครั้งที่มักพบวิวาทะระหว่างนักกีฬาคนดังกับแฟนกีฬาที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์ในสื่อสังคมออนไลน์ด้วยจนเรื่องบานปลายใหญ่โต

การเคลื่อนไหวของอองรี เป็นสิทธิส่วนบุคคลสำหรับคนทั่วไปอยู่แล้ว น่าคิดว่าบรรยากาศที่เป็นมลพิษในโลกไซเบอร์จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากกว่ากรณีของอดีตนักฟุตบอลหรือไม่ หากเป็นนักกีฬาคนดังระดับแนวหน้าของวงการที่สื่อสังคมออนไลน์ของพวกเขามีมูลค่ามหาศาล เป็นพื้นที่การตลาดสำหรับโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้ แนวทางนี้จะพอเป็นการเคลื่อนไหวทางเลือกสำหรับรณรงค์ยุติ/ลดพฤติกรรมที่เป็นมลพิษในสังคม (ออนไลน์) ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธได้ยากว่า สื่อสังคมออนไลน์ให้ทั้งคุณและโทษ เสมือนกับการใช้มีด หากนำไปใช้ตรงกับวัตถุประสงค์โดยไม่กระทำรุนแรงใด ๆ ก็ย่อมเป็นประโยชน์ แต่หากนำสิ่งของไปทำอันตรายกับผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันควรก็ย่อมย้อนกลับมาเป็นโทษได้

ในทางกลับกัน นักกีฬาหลายคนไม่เพียงใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ด้วยการส่งสารแบบผิด ๆ จนโดนลงโทษ สปอนเซอร์ถอนตัว หรือติดมากจนแม้แต่ช่วงพักครึ่งก็ต้องมาโพสต์ลง คงไม่แปลกที่องค์กรกีฬาบางแห่งเริ่มออกมาตรการเกี่ยวกับการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของนักกีฬาในสังกัดภายในเวลาซ้อม/แข่งกันให้เห็นมาเสมอ คำว่า “ทางสายกลาง” น่าจะพอนำมาใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการกับกรณีนี้ ทั้งฝ่ายผู้ใช้งานที่เป็นแฟนกีฬาเองไปจนถึงตัวนักกีฬาด้วย

อ่านข่าวต้นฉบับ: โซเชียลมีเดีย ในหมู่คนวงการกีฬา เป็นทั้ง เงิน และ มลพิษ ?

ข่าวกีฬาประชาชาติธุรกิจ : www.prachachat.net

Leave a Reply