7 สโมสรฟุตบอลยุโรป รายได้หายกำไรหดมากที่สุดในวิกฤตโควิด

วงการฟุตบอลได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โรคระบาด ก
อ่านข่าวต้นฉบับ: 7 สโมสรฟุตบอลยุโรป รายได้หายกำไรหดมากที่สุดในวิกฤตโควิด

วงการฟุตบอลได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โรคระบาด การที่ฟุตบอลต้องแข่งในสนามปิดไม่มีคนดู สโมสรไม่มีรายได้จากการขายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน และการขายของในวันแข่งขัน เป็นภาพที่เห็นชัดที่สุดว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบรรดาสโมสรฟุตบอลมากขนาดไหน

ก่อนจะมีโควิดวงการฟุตบอลก็มีปัญหาอยู่แล้วแต่เดิม คือมีรายจ่ายสูง ค่าเหนื่อยและค่าตัวนักเตะนั้นสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น ด้วยความที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีสภาพคล่องต่ำอยู่แล้ว เมื่อโดนโควิดจู่โจมทำให้ต้องหยุดการแข่งขัน และกลับมาแข่งขันได้ก็เป็นการแข่งโดยไม่มีคนดู ทำให้สโมสรฟุตบอลทั่วโลกแทบกระอักเลือด

ในช่วงสัก 10 ปีก่อนหน้านี้ (ปี 2009-2018) สโมสรฟุตบอลชั้นนำในยุโรปมีรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 6.7% แต่ฤดูกาล 2019-2020 เกือบทุกสโมสรอยู่ในสถานการณ์ที่แย่เหมือน ๆ กัน

มีข้อมูลในรายงานของ KPMG ที่เปรียบเทียบงบการเงินของสโมสรฟุตบอลขนาดใหญ่ 20 สโมสรในยุโรป และศึกษาผลกระทบจากโควิดต่อวงการฟุตบอลยุโรป พบว่าสโมสรฟุตบอลขนาดใหญ่ 20 สโมสร (ยกเว้นลิเวอร์พูลที่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด) สูญเสียรายได้รวมกันมากถึง 1 พันล้านยูโร และขาดทุนรวม 1.1 พันล้านยูโร ซึ่งถดถอยลงอย่างน่ากลัวจากปีก่อนหน้านั้นที่มีกำไร 90.7 ล้านยูโร

ในบรรดาสโมสรฟุตบอลมากมายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เดียวกันมีอยู่ 7 สโมสรที่รายได้จากการดำเนินงาน (operating revenue) หดหายมากที่สุด ได้แก่

1.สโมสรปอร์โต้ ประเทศโปรตุเกส รายได้ลดลง 50.5% กำไรลดลง 125.5%

2.สโมสรโรมา ประเทศอิตาลี รายได้ลดลง 39.3% กำไรลดลง 179.7%

3.สโมสรเปเอสเฟ ไฮนด์โฮเฟิน ประเทศเนเธอร์แลนด์ รายได้ลดลง 26% กำไรลดลง 3.1%

4.สโมสรเบซิกตัส ประเทศตุรกี รายได้ลดลง 24.8% กำไรลดลง 23.3%

5.สโมสรเอซี มิลาน ประเทศอิตาลี รายได้ลดลง 23.8% กำไรลดลง 11.9%

6.สโมสรอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ รายได้ลดลง 18.6% กำไรลดลง 31.4%

7.สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ประเทศอังกฤษ รายได้ลดลง 18.5% กำไรลดลง 47.9%

ในภาพรวมโควิดทำให้สโมสรฟุตบอลเจอผลกระทบหลายด้าน ทั้งเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับสัญญานักเตะ การจำกัดการเดินทาง โปรแกรมการแข่งขันที่รวนหรือโดนยกเลิก ไปจนถึงค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด

สมาคมสโมสรฟุตบอลยุโรป (ECA) คาดการณ์ว่า wage-to-revenue ratio หรืออัตราส่วนค่าจ้างต่อรายได้จากการดำเนินงาน (ไม่รวมกำไรจากการขายผู้เล่น) ของสโมสรฟุตบอลในยุโรปอาจเพิ่มขึ้นจาก 59.6% ในฤดูกาล 2018/19 เป็น 70.1% ในฤดูกาล 2020/21 ซึ่งหากเป็นภาวะปกติที่ไม่มีโควิดคาดว่าจะอยู่ที่ 62.9%

ตัวเลขข้างบนนี้แสดงให้เห็นชัดว่าค่าจ้างนักเตะและพนักงานเป็นรายจ่ายหลักของสโมสร การต้องสูญเสียรายได้ขณะที่รายจ่ายไม่ได้ลดลง จึงทำให้สโมสรฟุตบอลเจ็บหนัก

หลาย ๆ สโมสรปรับลดค่าจ้างนักเตะและสตาฟลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ อย่าง สโมสรเรอัล มาดริด ลดค่าจ้างนักเตะลงชั่วคราว 10% และอีกสโมสรที่ประสบความสำเร็จในการลดค่าจ้าง คือ บาเยิร์น มิวนิก ที่ลดลง 6% สโมสรฟุตบอลในลีกที่มีตังค์อย่างลีกอังกฤษก็มีการขอลดค่าจ้างนักฟุตบอล-พนักงาน และขอความช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยาของรัฐบาลด้วย

กรณีของสโมสรปอร์โต้ที่รายได้ลดลงมากที่สุดถึง 50.5% นั้น สาเหตุหลัก ๆ มาจากผลงานในสนามที่ย่ำแย่ ตกรอบรายการยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกไปตั้งแต่รอบคัดเลือก ทำให้พลาดรายได้จากการถ่ายทอดสดที่เคยได้ในปีก่อน ๆ ส่วนสโมสรดังจากเนเธอร์แลนด์ติดท็อป 7 สโมสรที่รายได้หดมากสุดถึง 2 สโมสร เนื่องจากลีกดัตช์เลือกตัดจบยกเลิกฤดูกาลแข่งขันไปตั้งแต่เดือนเมษายน

ถึงแม้จะเป็นทีมที่รายได้ลดลงมากที่สุด แต่ปอร์โต้ก็ไม่ใช่ทีมที่ขาดทุนมากที่สุด ส่วนทีมที่ขาดทุนมากที่สุด คือ เศรษฐีแห่งลีกฝรั่งเศส สโมสรปารีส แซงต์-แฌร์แม็ง ที่ขาดทุนมากถึง 125.8 ล้านยูโร

ในปีที่สาหัส เพื่อนร่วมอุตสาหกรรมรายได้หดหาย น่าทึ่งที่มีบางสโมสรทำรายได้ได้เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลก่อนนั่นก็คือ โบรุสเซีย ดอร์ตมุนด์ จากเยอรมนี ที่ทำรายได้เพิ่มขึ้น 0.6% และ เซบีญา จากสเปน รายได้เพิ่มขึ้น 6.3% แต่ ดอร์ตมุนด์ก็ยังขาดทุน 44 ล้านยูโร ส่วนเซบีญามีกำไรนิดหน่อย 1.2 ล้านยูโร

อีกกรณีที่น่าสนใจก็คือ สโมสรที่แม้ว่ารายได้ลดลง แต่หักลบรายจ่ายแล้วก็ยังมีกำไรอยู่นั่นก็คือ บาเยิร์น มิวนิก แชมป์ลีกเยอรมันที่มีกำไร 5.9 ล้านยูโร และเรอัล มาดริด แชมป์ลีกสเปนที่มีกำไร 3 แสนยูโร ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการลดค่าใช้จ่ายในส่วนค่าจ้างนักเตะและบุคลากร ส่วนลิเวอร์พูล ทีมแชมป์พรีเมียร์ลีกอังกฤษยังไม่เปิดเผยรายจ่ายและผลกำไร

แน่นอนว่าในวิกฤตนี้สโมสรได้รับผลกระทบหนักกว่านักฟุตบอลหลายเท่า แต่โรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ก็ส่งผลกระทบระยะยาวต่อค่าตัวนักเตะด้วย การประเมินมูลค่านักเตะโดย KPMG ระบุว่า มูลค่ารวมของนักเตะที่ค่าตัวสูงที่สุด 500 อันดับแรกลดลง 9.6% ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2020-มกราคม 2021 เนื่องจากสโมสรต่าง ๆ มีกำลังซื้อน้อยลง จึงจำเป็นต้องขายนักเตะในราคาที่ต่ำกว่าที่เคยตั้งไว้

ข้อมูลที่เรายกมานำเสนอ มาจากรายงานการศึกษางบการเงินของสโมสรใหญ่ ๆ เท่านั้น แต่บรรดาสโมสรเล็ก ๆ ที่ไม่อยู่ในการศึกษานี้อาจจะเดือดร้อนหนักกว่า เพราะว่ายิ่งสโมสรเล็กยิ่งพึ่งพารายได้จากวันแข่งขันเยอะ ไม่มีรายได้จากการขายสินค้า ค่าโฆษณา และรายได้เชิงพาณิชย์อื่น ๆ มากมายอย่างทีมใหญ่

อ่านข่าวต้นฉบับ: 7 สโมสรฟุตบอลยุโรป รายได้หายกำไรหดมากที่สุดในวิกฤตโควิด

ข่าวกีฬาประชาชาติธุรกิจ : www.prachachat.net

Leave a Reply